วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผู้ไม่แพ้

สยามรัฐ 26 มี.ค. 2552

ผู้อ่านเคยฟังเพลง “Hero” ของมารายห์ แครี่ มั้ยค่ะ มันเป็นบทเพลงที่ทำให้เราได้อยู่และเห็นคุณค่ากับตัวเอง อย่างน้อยถึงไม่มีคุณค่ากับใคร แต่ตัวเราย่อมมีคุณค่ากับตัวเราเองเสมอ

“ลมหายใจ มีไว้ ให้ความหวัง
สร้างพลัง ดวงจิต อย่าคิดถอย
อย่าอยู่อย่างชีวิตที่เลื่อนลอย
โหยละห้อย เสียกาลและเวลา
อุปสรรค เข้าเผชิญ จงเดินสู้
ยอมรับรู้ ด้วยใจ ที่อาจหาญ
จารึกและตรอง แก้ไข อย่านิ่งนาน
รีบประสาน เข้มแข็ง ด้วยแรงใจ”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ : หลวงพี่น้ำฝน)

แปลความว่า
“Breath is what stand for Hope,
Then try to energize.., never make your mind lost,
never be hopeless day by day..,
never waste time by doing nothing..,
But just face it Big problem..,
accept, realize and find the solution..,
never wait that long But cope with it fast.”
(ทิชา สทุธิธรรม)

- ทิชา สุทธิธรรม-
************************************************

บุญคุณต้องทดแทน “แค้น” ต้องชำระ “ภาษี”

สยามรัฐ 25 มี.ค. 2552

กลายเป็นประเด็นของหนังสือพิมพ์หน้า 1 ไปทั่วโลก สำหรับกรณีการรับโบนัส “ฉาว” ของผู้บริหารและพนักงานของบริษัท AIG ประกันภัยยักษ์ใหญ่(ในอดีต) ที่กำลังรอเงินก้อนใหญ่จากรัฐบาลสหรัฐอีกถึง 1.75 แสนเหรียญสหรัฐ

สืบสาวได้ว่า เม็ดเงินในการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานซึ่งค่อนข้างจะเป็นระดับบน รวมกันแล้วจะเป็นเงินมากถึงกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้เกิดเศรษฐีน้อยๆ ขึ้นถึง 73 คน ในบริษัท (ล้วนเป็นคนที่ได้รับโบนัสมากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งชาวอเมริกันส่วนใหญ่ “รับไม่ได้” และพากันประท้วงกันที่หน้า AIG ในกว่า 100 เมือง

เดือดร้อนกันไปถึงท่านผู้นำประเทศ “เอ้าป่าหม่า” หรือ “โอบามา” คนดังที่เก็บ “ความโกรธ” ที่ “ควันออกหู” ยังไม่พอ ยังอุตส่าห์ “ฝ่าด่าน” กฎอรหันต์ออกรายการ “ทอล์คโชว์” The Tonight Show ทางช่อง NBC เป็นครั้งแรก เพราะผู้นำประเทศมักไม่ออกรายการประเภทนี้กัน

ความในใจบวกกับ “ลูกอ้อน” หลังจากคะแนนนิยมเริ่มตก ว่า “ขอเวลา” หน่อย ในการเรียกเงินโบนัสกลับคืนมา และว่า ปัญหานี้เสมือนกับเป็น “ดินพอกหางหมู” สือเนื่องจากการปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าหาผลประโยชน์จากเงินของคนอีกกลุ่มหนึ่งมานานหลายปี จนทำให้ระบบการเงินทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยง “ความโลภบนความประมาท” ย่อมนำไปสู่หายะ “ปมาโท วัจโน ปทัง” (ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย)

คนที่อาจโดน “หางเลข” ใน WORSE CASE อาจจะกลายเป็น “ทิม ไกร์เนอร์” รัฐมนตรีคลัง สุดป๊อปปูล่าร์ที่ดูท่าต้อง “เดิมพัน” ด้วยตำแหน่ง ล่าสุดบรรดาพวกที่ได้โบนัสอาจต้องถูกเก็บ “ภาษีโบนัส” ร้อยละ 90 ถ้าหาก “คน” ผู้นั้นได้โบนัสมากกว่า 2.5 แสนเหรียญต่อปี

นี่คืออีก 1 ก้าวสำคัญกับการ “ทวงคืนภาษี” บุญคุณคนทำงานให้ AIG ตามกฏหมายผูกพันก็ทดแทนกันไป แต่ “ความแค้น” ในใจคนสหรัฐนั้นสุดยิ่งใหญ่ ถ้า “แก้เกม” ไม่ได้ ก็ “แค่ตาย” คาเก้าอี้ทำเนียบขาวเท่านั้นเอง !!

-ทิชา สุทธิธรรม-
********************************************************

ล้ม ก็ ลุก

สยามรัฐ 24 มี.ค. 2552

ทุกวันนี้ ท่ามกลางความเครียดที่รายล้อมและปัญหาที่รุมเร้าประชาชนคนไทย คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้กำลังใจกัน

“ถ้าล้ม จงลุก อย่าทุกข์ท้อ
จงสานต่อ ความฝัน อันยิ่งใหญ่
แม้วันนี้ ไม่มีสิทธิ์ พิชิตชัย
ก็ยังมี วันใหม่ ให้ท้าทาย”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ : หลวงพี่น้ำฝน)

แปลความว่า
“If you are failed, try to stand up and never be discouraged..,
Try to continue focusing on your drcam,
Although today is not your day just yet,
You still have tomorrow that is wouth trying for.”
(ทิชา สุทธิธรรม)


- ทิชา สุทธิธรรม-
************************************************

โถ..!! ขันติธรรม : กรรมที่ไม่ได้ก่อ

สยามรัฐ 23 มี.ค. 2552

การเมืองต่างประเทศที่ดูหวือหวาน่าติดตามกัน สัปดาห์ที่แล้วก็เห็นทีจะเป็นที่ประเทศเกาะอย่าง มาดากัสการ์ ที่เดิมที่ก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วย เหมืองแร่และน้ำมัน การลงทุนโดยตรง จากต่างประเทศรวมถึงการท่องเที่ยว ก็สร้างรายได้ให้ไม่น้อยถึงปีละ 390 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท “อาจต้องหายวับ”

เหตุเกิดจาก นายกเทศมนตรีของเมืองหลวง ที่ชื่อว่า แอนดรี่ ลาโจอลินา ซึ่งมีอายุเพียง 34 ปี แต่เป็นบุคคลที่กล้าบ้าบิ่นไม้น้อย เพราะพกเอาความมั่นใจบุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดี มาร์ค ราวาโลมานานา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งโดยมาจากการเลือกตั้งตามกฏหมาย พร้อมประกาศให้ตัวประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง โดยที่เขาจะเป็นผู้ปกครองและบริหารประเทศเอง

ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น กับความมุ่งมั่น (อุตสาหะ) ที่อาจจะไม่ใช่ สัมมาทิฐิ (เห็นชอบ) ถึงได้ประกาศกร้าวเยี่ยงนี้ อาจมองได้มั้ยว่านายแอนดี่ คนนี้ กำลังอยู่ในวังวนของ โลภะ(ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น) ที่ต้องหา เหตุอันสมควร อย่างถ้วนถี่

ที่น่าแปลกใจ คือ ดูเหมือน “โชค” จะเข้าข้างเขาไม้น้อย เพราะด้วยวัยที่หนุ่ม ความทะยานอยากอันสูงลิ่วแล้ว เค้าเป็นคนมีต้นทุนทางสังคมมากมาย เช่น เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์มีเงินและมีพลังมวลชน ส่วนมากคอยสนับสนุนการรุกคืบครั้งนี้แบบเต็มๆ

จะเดือนร้อนก็แต่ท่านประธานาธิบดีผู้น่าสงสาร ที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะยอม “กลืนเลือด” และ “อดทนอดกลั้น” (ขันติธรรม) ต่อกรรมที่ไม่ได้ “ก่อ” ยอม “หือ” ลงจากบัลลังก์ อย่าง “ชั่งใจ” ไว้ดีแล้วว่าควร “จบ” ด้วยการประณีประณอม (compromising) และให้ฝ่ายทหารเข้ามาจัดการไกล่เกลี่ย งานนี้ไม่บอกก็ดูออกว่าทหารไม่อาจทัดทาน “อำนาจมืด” ในที่ “แจ้ง” ได้ ทำอย่างไรให้บ้านเมือง “สงบ” ก่อน เดี๋ยว “เฝือกร้อน” ก้อนต่อไป ค่อยว่ากัน !!

-ทิชา สุทธิธรรม-
****************************************************

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

: ยืม(จมูก) ก็ทุกข์, ให้ยืม(จมูก) ก็ทุกข์

สยามรัฐ 20 มี.ค. 2552

เริ่มส่งกลิ่นมาตั้งแต่ปลายปี 2551 แล้วว่า บริหารการลงทุน “ขาดทุน” ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีข้าราชการทั่วฟ้าเมืองไทยเป็นสมาชิกอยู่ และต่างฝากความหวังไว้กับวิจารณญาณ “ผู้บริหาร” และ “ผู้จัดการกองทุน” ในการลงทุนให้ออกดอกออกผล เพราะ “ข้าราชการ” เชื่อว่าปลอดภัยและ “เสี่ยงน้อย” กว่าลงทุนเองโดยตรง ซึ่งอาจกลายเป็น “แมงเม่า” ไปได้

จากวิสัยทัศน์การลงทุนของผู้บริหาร กบข. ที่ดิฉันได้ศึกษามาก็พบว่า กบข. ได้มีการลงทุนอย่างระมัดระวัง “ไม่เสี่ยง” กับของ “ยั่วใจ” ที่ “ไม้รู้จัก” เลยไม่ตกเป็นเหยื่อจาก “พิษซับไพรม์” ในสหรัฐและลามไปทั่วโลก ถึงกำไรจากการลงทุนจะไม่ได้ “ก้าวกระโดด” แต่ก็ไม่เคยขาดทุน แถม “มีกำไร” มาตลอดระยะเวลาที่ก่อตั้งมาหลายปี

แต่วันนี้ กบข. ขาดทุน “บักโกรก” จากการลงทุนถึง 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้ายืนตาม พรบ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 กบข. สามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงได้ 60 % (แต่ความเป็นจริงลงทุนไป 77.89% ) และที่เหลือ 40% สามารถลงุทนในทรัพย์สินอื่นๆ และถ้าอ้างอิงข้อมูลจากสื่อ ที่ “หุ้นบางบริษัทหรือการลงทุนบางอย่างที่ไม่ทำกำไร กบข. ยังเดินหน้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนต่อ และไม่ลดสัดส่วนการลงทุน” ความผิดปกติจึงปรากฏขึ้น

“อัตตัตถะ หรือ อรรถ3” หมายถึง ประโยชน์ – จุดมุ่งหมาย แบ่งได้ 3 กลุ่ม
1. อัตตัตถะ (ประโยชน์ตน)
2. ปรัตถะ (ประโยชน์ผู้อื่น)
3. อุภยัตถะ (ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย)

ผู้ที่สวมวิญญาณ “บริหารความเสี่ยง หรือผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)” นั้นควรจะ
คำนึงถึง ทั้ง 3 ประการ สมาชิกข้าราชการต้องได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ส่วน กบข. ก็มีผลงานและผลตอบแทนสม่ำเสมอ

เลยเป็นที่มาของการ “สอบ” กันยาว ถึง “วินัย” บวก “ความโปร่งใส” ในการลงทุน ซึ่งแว่วๆว่า “บอร์ดระดับสูงของกบข.ก็ล้วนแต่เป็นระดับบิ๊กๆ ในเครื่องแบบ” กันทั้งนั้น งานนี้ก็ต้องวัดกันระหว่าง “เจ้ากระทรวงยุติธรรม คุณธรรมแรง” กับ “การลงทุนที่อาจมีนัยแฝง เพราะติด ตัวแดง โร่”

ที่แย่ไปกว่านั้น ข้าราชการที่ “ไม่ใหญ่ไม่โต” อาจมีอันต้อง “ร้องโฮ” เพราะกลัว “ช่องโหว่” และอาจ “ไม่ได้ตังค์!!” “ทุกข์” ทั้งคน “คนทำให้” คน “ให้ทำ” เรื่อง “กำไร” ไว้ว่าทีหลัง “เงินต้น” อย่า “โดนฝัง” เป็นพอ!!


-ทิชา สุทธิธรรม-
***************************************************************

“อยู่” กับ “ปัจจุบัน”

สยามรัฐ 19 มี.ค. 2552

หลังจากที่ดิฉันได้มีโอกาสถ่ายทอด “อดีต” อันข่มขื่นแต่ทว่ามีคุณค่าต่อการจดจำ อย่างอดีตครั้งยังเยาว์วัย ของหลวงพี่น้ำฝน ที่ทำให้ท่านกลายเป็น “พระนักสู้” และ “มุมานะ” คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า “กับอดีตลืมมันไป ให้เริ่มใหม่กับปัจจุบัน” เป็นวิธีที่ให้กำลังใจคนมานักต่อนักแล้ว (และควรทำให้ได้ด้วย)

“ปัจจุบัน คือ ความจริง สิ่งที่เห็น
อาจโลดเต้น ยักย้าย พลิกซ้าย – ขวา
เป็นสิ่งที่ ไม่มีไว้ ในตำรา
ต้องค้นหา ต้องต่อสู้ อยู่เรื่อยไป”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ : หลวงพี่น้ำฝน)
แปลความว่า
“The present is the truth that can be seen,
which can be always volatile and non – stop,
It happens in real life , not in any lessons,
which always need to seek and fight a long the way through.”
(ทิชา สุทธิธรรม)

ถ้าทำปัจจุบันให้ดีไม่ได้ ก็สุดแสนจะยาวไกลในการจะมี “อนาคต” !!


- ทิชา สุทธิธรรม-
************************************************

ปัญญาในมุมกลับ: ทรัพย์จาง

สยามรัฐ 18 มี.ค. 2552

สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้อ่านหลายท่านคงจะได้เห็นจุดจบของ กลลวงการลงทุนระดับโลก ของ เบอร์นาร์ด แมดอฟท์ อดีตผู้บริหารตลาดหุ้นแนสแด็ก ว่าตัวเขายอมรับสารภาพผิดในทุกข้อกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ให้การเท็จ หรือ ข้อหาฟอกเงิน ซึ่งสร้างความดีใจ หรือ อาจออกแนว “สาแก่ใจ” ให้กับนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกเป็นเหยื่อกลลวงของเขา

ลักษณะกองทุนแชร์ลูกโซ่ที่ว่านี้ก็จะทำการหลอกลวงผู้ลงทุนให้สนใจและตาโตกับผลกำไรก้อนใหญ่ที่จะตามมา เงินต้นของลูกค้ารายใหม่ๆ จะกลายไปเป็นเงินปันผลให้กับลูกค้ารายเก่าๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความไว้วางใจ โดยที่ลูกค้ารายใหม่ๆ ยังไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว แถมยังอุตส่าห์ช่วยกระจายข่าว (Words of Mouth) ด้วยความหวัง เลยทำให้ยิ่งดึงผู้หลงผิดให้เข้ามาติดกับนักลงทุนรายนี้มากขึ้นทุกวันๆ

อันที่จริง เบอร์นาร์ด แมดอฟท์ อาจจะดูเป็นคนที่ทำกรรมดีมาไม่น้อยเห็นได้จากชื่อเสียงในความชำนาญการลงทุน และ “ปัญญา” ที่ดูจะมาเหนือคนอื่น แต่ไม่ได้ “ยืน” บนความถูกต้อง ด้วยความที่ “ฉลาดล้ำ” ก็จะเจาะเข้าไปตีสนิท กลุ่มคนชั้นสูงในสังคม ดึงคนมาร่วมด้วย “น้ำใสใจจริง” และยึด “กัลยาณมิตร” (ความเป็นมิตรที่ดี) เป็นที่ตั้ง แต่จะต้องเป็น “มิตร” ที่พร้อมจะฟังเขา ไม่ฉลาดกว่าเขาหรือหัวแข็ง คล้อยตามยาก (คนที่เชื่อใน “อัตตา” : ความเป็นตัวตนก็ยังพอมีอยู่บ้าง)

สิ่งที่น่าสังเกตและเป็นความจริงเสมอ “คนทำชั่วย่อมถูกตามทันด้วยกรรมชั่ว” ไม่ช้าก็เร็ว จุดจบของการใช้ “เงินต่อเงิน” คนที่ “โชคร้าย” ที่สุดก็คือผู้ลงทุนรายใหม่ๆ ซึ่งเมื่อข้อต่อขาดเงินหมุนไม่ครบรอบ “แชร์ลูกโซ่” ก็จะลืมเป็นสัจธรรม

“โลภนักมักลาภหาย” สิ่งที่ควรได้ก็ไม่ควรได้ เรา “ชาวพุทธ” ควรทำตามมีตามเกิด ยินดีตามได้ บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีด้วยในสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณจะทำให้ตัวเองไม่ได้อะไรเลย เพราะแมดอฟท์ อาจติดคุกจนถึงอายุ 220 ปี สบายไปทั้งชาติจริงๆ !!!

-ทิชา สุทธิธรรม-
***************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552

“เรียนรู้ ดูอดีต”

สยามรัฐ 17 มี.ค. 2552

น่าแปล ที่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้วในชีวิต เราจะเรียก “มัน” ว่า “อดีต” และคำว่า “อดีต” นี้เอง มักจะไม่ใช่เรื่องที่คนอยากจดจำ นอกซะจากคนๆ นั้นยังคงมี “ความสุข” “ความภูมิใจ” ในอดีตนั้น แต่นั่นก็ยังน้อยกว่าคนจำนวนมากที่เคยมี อดีต “อันขมขื่น” และ “ฝืนลืมไม่ลง”

“อดีต คือ ความหลัง ที่ฝังจิต
อาจถูก - ผิด ดี – เลว หรือเหลวไหล
เป็นบทเรียน อย่างดี ที่สอนใจ
เพื่อแก้ไข พฤติกรรม ที่ทำมา”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ : หลวงพี่น้ำฝน)
แปลความว่า
“The Past might be an old story that is hard to forget,
It could be right or wrong , good or bad, and lost sometimes,
Yet it could be the best lesson for us to learn,
To correct and change same old behavior.”
(ทิชา สุทธิธรรม)

“อดีต” เรา “ลบ” มันไม่ได้ แต่เรา “ลืม” มันได้ ถ้ามันบั่นทอนจิตใจกัน จะจำไปทำไม..


- ทิชา สุทธิธรรม-
************************************************

ศิลปะสุดล้ำ – ผู้นำ “งานเข้า”

สยามรัฐ 16 มี.ค. 2552

หลังจากที่ดิฉัน ได้โยงประเด็นของการเมืองเกาหลีเหนือ ซึ่งเริ่มจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ (Threat) ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประเด็นทางการเมืองที่ไม่ธรรมดา ดูคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็น “สงครามจิตวิทยา” ที่ยืดเยื้อ ในระดับโลก เพราะเป็นโจทก์ใหญ่ของสหรัฐในห้วงยามนี้

อันที่จริงก็ดูเป็นกรณีที่เกิดขึ้นทุกปีเรื่องความไม่พอใจในการซ้อมรบร่วม ระหว่าง สหรัฐ – เกาหลีใต้ แต่ปีนี้ดูจะกลายเป็นจุดพีค (Peak) คงเป็นเพราะผู้นำเกาหลีใต้อย่าง ลี เมียง บัก ที่ได้ประกาศกร้าวว่าจะต่อต้านการสร้างขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างเด็ดขาด ผู้นำเกาหลีใต้คนนี้แทบจะเป็นคนอเมริกันแต่โดยแท้ถ้าไม่รวมหน้าตาที่ออกแนว “ตี๋” เอเชีย และออกจะภักดีต่อแนวทางของสหรัฐไม่น้อย (เขารักของเขา) “ความซื่อสัตย์เป็นสมบัติของคนดี” ด้วยความที่มีมิตรไมตรีอันดีต่อกัน เลยเข้าขา ช่วยเหลือกันได้ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจกับสหรัฐ

แตกต่างกับ คิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ ผู้ที่ “ลับ - ลวง – พราง” ได้เก่งอย่างเหลือเชื่อ จะป่วย - จะดี ก็ไม่มีใครว่า แต่มักทำตัวให้ดูน่าจับตา เพราะบางทีก็สร้างข่าวว่า “ตายแล้ว” บ้าง “ป่วยหนัก” บ้าง แต่จู่ๆ ก็มีภาพเป็นๆ มาปรากฎ นัยว่าอยากจะ “ป่วนให้ศัตรูไม่รู้ทิศทาง” ไม้รู้จะพูดว่าอย่างไรในความ “สุดขั้ว” ของผู้นำท่านนี้ ที่บางทีอาจจะมีวิธี “ฉลาดคิดและฉลาดทำ” (ในวิถีทางของท่าน) ซึ่งคนอย่างเราๆ ไม่ค่อยเข้าใจ ยกตัวอย่างหลักธรรมสัก 1 ข้อ จาก “มงคล 4 ประการ” คือ “มีศิลปวิทยา” คือ การแสดงให้ปรากฎขึ้นอย่างความน่าพึงชม หรือ ฉลาดทำ หมายถึง คิดเป็น – ทำเป็น – พูดเป็น ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะ “เล็งเห็น” และ “มองออก” แต่ก็พอเดาได้ว่าพี่ใหญ่อย่างสหรัฐและ “หนามยอกอก” อย่างเกาหลีใต้ไม่เห็นดี (appreciate) ด้วยแน่ ผูกปมพิศดารก็ “แก้” กันนานแบบไร้อนาคต หมดเวลาแก้ปัญหาปาก – ท้อง กันพอดี!!



-ทิชา สุทธิธรรม-
**************************************************

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

อกุศลกรรม ทำพิษ (เศรษฐกิจทรุด)

สยามรัฐ 13 มี.ค. 2552

ที่มีการเมืองและเศรษฐกิจที่แทบจะแยกออกจากกันไม่ออกนั่นก็คือ เกาหลีเหนือ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่ามันจะรบอะไรกันหนักหนา เหตุใดจึงเขม่นกันไม่จบไม่สิ้น ระหว่าง เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และสหรัฐ

อันที่จริงเกาหลีเหนือก็ไม่ชอบหน้ากับเกาหลีใต้มานาน และก็มองว่าเกาหลีใต้พยายามส่งสัญญาณประกาศความเป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือมาตลอด เริ่มตั้งแต่การซ้อมรบร่วมกันเป็นประจำทุกปี ระหว่าง เกาหลีใต้กับสหรัฐ โดยมีเหตุผล คือ เพื่อทดสอบความพร้อมของกองกำลังป้องกันประเทศ ต้องทราบก่อนว่าสหรัฐเองก็ประกาศอยู่เสมอว่า เกาหลีเหนือ ผู้ซึ่งพยายามจะพัฒนาอาวุธนิเคลียร์ โดยอ้างเหตุผลว่า ทำไปเพื่อการศึกษา โดยถือว่าเกาหลีเหนือเป็น 1 ในประเทศ อักษะแห่งความชั่วร้าย

ในขณะที่เกาหลีเหนือก็มองเกาหลีใต้ว่าเป็นศัตรู เพราะเห็นรู้และฝักใฝ่ในสหรัฐ พร้อมๆกับความรู้สึกไม่พอใจว่า “อะไรกันเนี่ยะ พรมแดน 2 เกาหลีก็อยู่ติดกัน ทำไมจะต้องซ้อมรบ” ท่ามกลางวังวนแหล่ง “ความสงสัย” “(วิจิกิจฉา)” นี้เองแล้วก็ยั่วกันไปยั่วกันมาตอบได้ง่ายๆ ว่า มันก็เหมือน “สงครามประสาท” นั่นเอง

“กรรม” คือ การกระทำทางกาย วาจา หรือใจ แบ่งเป็น
1 “กุศลกรรม” คือ กรรมดี ที่ไม่มี โลภ – โกรธ – หลง
2 “อกุศลกรรม” คือ กรรมชั่ว ที่เมามัวด้วย “กิเลส” เช่น กลั่นแกล้งคนอื่นด้วย ความโกรธแค้น

นี่ขนาดญี่ปุ่นและสหประชาชาติ พยายามบอกให้เกาหลีเหนือหยุดปฎิบัติการก็ไม่รู้จะทัดทานไหวมั้ย เพราะถ้าเกาหลีเหนือเริ่มยิงเมื่อไหร่ เกาหลีใต้กับสหรัฐอาจจะต้องงัด “อกุศลกรรม” มา “ดวล” กันสักตั้ง สรุป คือ พัง กับ พัง ทั้งประเทศ ทั้งเศรษฐกิจค่ะพี่น้องชาวโลก!!





-ทิชา สุทธิธรรม-
************************************************

มองให้ลึก

สยามรัฐ 12 มี.ค. 2552

ประสบการณ์ไม่น้อยของคนหลายคนที่ต้องเสียใจ เสียความรู้สึกหรืออย่างเลวร้าย (Worse Case) สูญเสียความก้าวหน้าในตำแหน่งอาชีพหน้าที่การงาน จากความไม่ซื่อ ความอคติและความอิจฉาจของคน อาจเป็นสังคมที่ทำให้ “คน” ต้องระวังตัวมากที่สุด

“มองอะไร มองให้เห็น เป็นครูสอน
มองไม้ขอน หรือมองคน มองค้นหา
มองเห็นตาม ความเป็นไป ใช้ปัญญา
จะเห็นว่า ความเป็นไป อนิจจัง”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ : หลวงพี่น้ำฝน)
แปลความได้ว่า
“To look at things is to learn things,
To look at people is to look through people,
Look what is happing by considering,
You’ll find that all things are always uncertain.”
(ทิชา สุทธิธรรม)

เพราะฉะนั้นอย่าเสียใจกับสิ่งที่เสียไป แต่จงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ แม้อาจจะเป็นเพียงสิ่งที่ “เหลือ” อยู่ก็ตาม...


- ทิชา สุทธิธรรม-
************************************************

กรรมดี ชี้ทิศ เศรษฐกิจรุ่ง

สยามรัฐ 11 มี.ค. 2552

สิ่งน่าสนใจสำหรับการจีนได้จัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติจีนขึ้นครั้งที่ 11 แต่ประเดิมด้วยมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายในการประชุมก็สร้างสีสัน ที่แรกคิดว่าจะไม่กล้า แต่ทว่าเขาเอาจริง

เริ่มตั้งแต่การงดเสิร์ฟไวน์ เหล้า กับเหล่าผู้นำ(นี่ถ้าคิดในเชิงศีลธรรม ก็รู้สึกน่ายกย่องไม่น้อย เพราะได้คะแนนเต็ม 10 หรับ “ศีล ข้อที่ 5” สุราเมรยมชปมา) สิ่งที่เสิร์ฟมีแค่กับข้าวซึ่งเป็นน้ำแกงไม่เกิน 3 ถ้วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 100 หยวนต่อคน (มัธยัสถ์อีกต่างหาก) แต่อาจจะยากเกินไปกับประเทศที่ “หน้าใหญ่” ทั้งหลาย แต่เงินไม่ใหญ่ เท่าพี่มังกรเค้า

ประเด็นหนึ่งที่น่าติดตาม คือ จีน พร้อมเจรจาเชิงสันติภาพกับไต้หวัน อันที่จริงจีนก็พยายามข่มความแค้นใจตั้งแต่เก่าก่อนที่ไต้หวันมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะประกาศเอกราชให้โลกรู้ แต่ “ไต้หวัน” เองที่ดูน่าจะแค้นใจยิ่งกว่า เพราะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ตั้งแต่สมัยเจียง ไค เช็ก แห่งพรรคก๊กมินตั๋น ที่ต้องหนีเตลิดมายังเกาะไต้หวันอันเป็นตำนานอันน่าท้าทายให้ต้องสู้มาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคจอง หม่า อิง จิ่ว ผู้นำไต้หวันที่มีใจฝักใฝ่และ “ปิยวาจา” กับจีนเป็นอย่างมาก เพราะเห็นโอกาสของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีบริษัทไต้หวันตั้งอยู่กระจายไปทุกที่ และน่าจะสร้างงาน - เงิน ให้ไต้หวันขับเคลื่อนได้อย่างยิ่งใหญ่ในอนาคตอันยาวไกล

แถมยังประเดิมสัญญาณดีไปแล้วจากเที่ยวบินที่เชื่อมตรงถึงกัน ระหว่าง 2 ดินแดนที่ปิด ไปตั้งแต่ปี 2492 เห็นไหมพี่น้องคนไทย “หลายสี” บวก “หลายใจ” ว่าไม่จองเวรต่อกันฉันใด ทิศทางฟื้นตัวมันก็ดูสดใส เช่นนี้แล...



-ทิชา สุทธิธรรม-
******************************************

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552

เก็บ...ไม่จน

สยามรัฐ 10 มี.ค. 2552

ถ้าคุณผู้อ่านได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง Shopaholic (สาวนักช๊อบ) ซึ่งนอกจากให้ความบันเทิงได้ดีแล้ว ยังมีข้อชวนคิดหลายประการ นางเอกของเรื่องนั้นเกือบจะเอาตัวไม่รอดจากหนี้บัตรเครดิตที่เจ้าหล่อนเป็นผู้สร้างขึ้นมาจาก “กิเลส” (ความอยาก) ซึ่งเสื้อผ้าอาภรณ์เลยช็อบกระจาย

ไม่น่าเชื่อว่า มีคนมากมายในโลกที่กำลังทุกข์ไม่เลิกเพราะขาดความยั้งคิดในการใช้เงินเพียงชั่วอึดใจ กลอนบทนี้อาจช่วยได้บ้าง นิดหน่อยก็ยังดี

“รู้จักกิน รู้เก็บกัก รู้จักใช้
อดออมไว้ มัธยัสถ์ ไม่ขัดสน
ดูมดปลวก สร้างรังนอน สอนผู้คน
หากดิ้นรน ชีพอยู่รอด ตลอดกาล”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ : หลวงพี่น้ำฝน)

“When you earn money learn how to spend smartly and save it with. You will never lose it.
See the effort of and, the way they find food and build their shelter it is good example of
Surviving wisely and worth teaching human”
(แปลความโดย ทิชา สุทธิธรรม)


- ทิชา สุทธิธรรม-
****************************************

ชะตาชีวิต อีลิท การ์ด


สยามรัฐ 9 มี.ค. 2552
มหากาพย์อันยาวนานของไทยแลนด์ “อีลิท การ์ด” ที่ยังวุ่นวายไม่จบ นอกเหนือจากค่าสมาชิกที่แพงหูฉี่กว่า 1 ล้านบาท ต่อใบ กับเสียงเรียกร้องมากมาย ว่าไม่คุ้มจากบรรดาฝรั่งที่เผลอใจ อีกทั้งตัวบริษัทยังขาดทุนมากมาย จนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการสั่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจอีกครั้งแต่ทว่า จากการประสบปัญหา ขาดทุนประมาณ 1,142 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2546 จนถึงปี 2549 ขณะที่ในปี 2550 – 2551 ยังไม่มีรายงานผลการดำเนินงาน

จากการศึกษาโครงการวิจัยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากโครงการบัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท พบว่า....นอกจากค่าสมาชิกที่โครงการนี้จะได้รับรายละ 1 ล้านบาทแล้ว ในแง่ของผลประโชยน์ทางตรง ชาวต่างชาติที่เป็นสมาชิกบัตรที่เข้ามาในไทย จะมีวันพักในเมืองไทยเฉลี่ย 14 วัน ต่อครั้ง มีการใช้จ่ายเงินโดยรวมเฉลี่ย 470,112 บาทต่อครั้ง และยังมีผลดีต่อระบบ เศรษฐกิจโดยอ้อม เช่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน จากการเข้ามาลงทุนของสมาชิกบัตร ซึ่งขณะนี้มียอดอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้าน

แนวทางจัดการโครงการ “อีลิท การ์ด” 3 มีแนวทางเลือก 1. ดำเนินธุรกิจโดยรัฐต่อไป ภายใต้การปรับแผนบริหารและโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด/ 2. เปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุนและร่วมในการบริหาร/ 3. ปิดบริษัท
ประเด็น คือ ถ้าปิดบริษัท ล้ม “อีลิท การ์ด” รัฐต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท
· เป็นค่าชดเชยให้กับสมาชิกบัตรประมาณ 2,570 ราย มูลค่าราว 2,270 ล้านบาท
· เป็นหนี้สินที่ต้องชำระให้กับผู้ให้บริการ หรือเวนเดอร์ ที่สัญญาผูกพันอยู่ มูลค่า ราว 168 ล้านบาท
· เป็นค่าชดเชยการเลิกจ้างพนักงานราว 17 ล้านบาท
· อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกหากมีสมาชิกบัตรฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

ขณะที่ทาง ททท. ก็เคยระบุว่า การล้ม “อีลิท การ์ด” ย่อมจะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นประเทศไทย!!
บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่า “ความหรูหราของราคาสมาชิกและปัญญาอาจไม่ได้มาด้วยกัน” (คนที่ดูขาดเขลา พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดอกบัวเหล่าที่ 4 ที่ไม่เคยพ้นน้ำ) งานนี้นอกจากเสียเครดิต บวก กับต้องผิดใจกันแล้ว ยังมีแววต้องใช้หนี้หัวโตอีกต่างหาก


-ทิชา สุทธิธรรม-
******************************************

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

ก็แค่น้อยใจ

สยามรัฐ 6 มี.ค. 2552

ในช่วงเศรษฐกิจตึงตัวแบบนี้ เราๆ ท่านๆ คงจะเริ่มหันมามองตัวเองและตั้งใจเก็บออมกันมากขึ้นโดยไม่มีการนัดหมาย เพราะถ้าไม่เก็บ อาจเป็นไปได้ที่จะไม่มีกิน “การออม” นั้นเป็นสิ่งที่ดีแน่ โดยไม่ต้องสงสัย (วิจิกิจฉา : ความลังเลสงสัย) แต่ไฉนนักเศรษฐศาสตร์บางคนกลับมองว่า “การออม” ในเชิงทฤษฎีอาจเป็นการ “ทำลาย” ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อสัดส่วน “ความอยาก” ในการออกเพิ่มมากขึ้น แน่นอนสัดส่วน “ความอยาก” ใน “การใช้เงิน” ย่อมน้อยลง ยิ่งในภาวะที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายในภาคของการเงินต่าง “ผวา” กลัวว่าเศรษฐกิจจะตึงตัวหรือเกิด “ภาวะเงินฝืด” แบบกู้ไม่กลับ (ในขณะที่สินค้าก็แพงน้อยลง แต่คนก็ยังไม่ซื้อ) เห็นชัดๆจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ประกาศออกมา -0.1 % ซึ่งเป็นการ “ติดลบ” ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนมกราคม ที่ก็ติดลบ 0.4%

ด้วยเหตุผลที่น้ำมันได้ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจปรับตัวลงทุกอย่าง ประชาชนรับรู้โดยอัตโนมัต จากผลกระทบที่เกิดขึ้นและพร้อมใจลดการบริโภคลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับยอดการบริโภครถยนต์ก็น้อยลงอย่างน่าใจหาย

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยอดคำสั่งซื้อรถยนต์ ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ลดลงแทบไม่ขยับ เพราะต่าง “รอ” ฟังคำตอบจากรัฐบาล หลังจาก “ส่งกลิ่น” ลือกันมาว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐมนตรีอุตสาหกรรม แสดงความตั้งใจอยากให้มีการลดภาษีสรรพสามิต รถยนต์ลง ซึ่งก็หมายความว่าผู้ซื้อรถมีโอกาสจะซื้อรถได้ถูกลง 30,000 – 50,000 บาทต่อคัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงระบายรถยนต์ในสต็อกเก่าออกมาได้มากอยู่ พร้อมๆ กับคนซื้อรถที่คงจะ “ยิ้ม” เพราะถูกใจได้ซื้อของถูกลง

แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะดูเหมือนว่า ทางกระทรวงการคลังจะแตะเบรก เพราะกลัวว่าจะเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ส่วนทางสภาอุตสาหกรรมเจ้าเก่าก็เริ่ม “บ่น” ว่าถ้ารัฐบาลช่วยอุ้มแต่ “กลุ่มยานยนต์” ก็อาจมีคน “ประท้วง” เพราะยังมีอีกหลายกลุ่ม เช่น อิเล็คทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี ก็ “สะบักสะบอม” ไม่แพ้กัน และถามหา “ความยุติธรรม” ว่าอยู่กันตรงไหน รัฐบาลถึงอ้อม “แฉลบ” ไปไกล คิดถึงแต่ “ของใหญ่ๆ” จน “ของเล็กๆ” น้อยใจ เพราะไม่มีใคร “เหลียวแล”...
-ทิชา สุทธิธรรม-
******************************************

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

ศีลธรรม นำความต่าง

สยามรัฐ 5 มี.ค. 2552
ดิฉันได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ยอดเยี่ยม “รางวัลออสการ์” ที่ชื่อว่า “Slum Dog Millionaire” แปลเป็นภาษาไทยว่า “เศรษฐีหมาสลัม” แล้วก็ต้องบอกว่า ไม่น่าเชื่อที่การนำ gimmick บนความ โลภ – หลง ของมนุษย์มาถ่ายทอดผ่าน “เกมเศรษฐี” ที่มองว่า สุดแสนจะเป็น “สูตรสำเร็จ” และ “น่าเบื่อ” ในเมืองไทย แต่ผู้สร้างภาพยนตร์กลับแฝงแง่คิดดีๆ ให้ติดตามได้อย่างแบบเนียนและมีคุณค่า บอกตรงๆ ว่าแว็ป แรก ยังตะหงิดๆ ในใจ ว่า ภาพยนตร์อินเดียเหรอ? จะต้องเติมมูลค่าเพิ่มไปมากสักเท่าไรกัน ถึงจะน่าดู แต่ว่า ดิฉัน คิดผิดถนัด !!!

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน ถ่ายทอดผ่านปลายปากกาเสมอ “ไม่มีใครอยากเกิดมา จน ล่ำ ต่ำ ต้อย ด้อย วาสนา” หรือมีชีวิตที่แร้นแค้นในสลัมอย่างภาพยนตร์ เรื่องนี้ ทุกอย่างมันพลิกได้ จริงๆ อยู่ที่เราเท่านั้น !!!

“คนเราดี มิใช่ดี ตรงมีทรัพย์
มิใช่นับ พงศ์พันธุ์ หรือชันษา
คนจะดี ดีด้วยการ งานนานา
อีกวิชา ศีลธรรม นำให้ดี”

“ก่อนจะทำ สิ่งใด ใจต้องคิด
ถูกหรือผิด อย่างนี้ ดีหรือไม่
ถ้าเห็นว่า ไม่ดี มีโทษภัย
ต้องหาทาง ทำใหม่ ทำให้ดี”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ : หลวงพี่น้ำฝน)

“Good man is not that you find him rich, senior or in high society.
But judge him on what he behaves and performs morally.”

“Think before you do, if it’s a bad tool, make it right turn it bright way.”
(แปลความโดย ทิชา สุทธิธรรม)

- ทิชา สุทธิธรรม-
*************************************

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

จะให้กู้ ต้องคู่ควร

สยามรัฐ 4 มี.ค. 2552
การประชุมอาเซียนซัมมิทจบไปแล้วแบบลุ้นระทึก และในที่สุดก็ผ่านพ้นไป ถือว่ารัฐบาลทำได้ “ดี” ในการกู้ภาพลักษณ์ ทั้งหน่วยงานและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวหัวหิน – ชะอำ ที่พยายามจัดระเบียนเมืองไม่ให้ไทย “เสียหน้า” ขอชื่นชมจากใจ

น่าเสียดายอยู่บ้างก็เรื่อง FTA ไทย – อินเดีย “พี่แขก” เค้าไม่เคลียร์ ก็สินค้าของเรากับเค้ามันก็คล้ายกันอยู่หลายรายการ ของเค้าสินค้า IT เจ๋งถือเป็นตัวแข่ง เราก็แรงใช่ย่อย ส่ง “อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์” เข้าประกวดได้ “ไม่แพ้” เลยเจอ “โรคเลื่อน” ยิ่งอินเดียลงนามเร็ว ก็ดูท่าจะเสียเปรียบเราเร็ว เค้าเลยขอเลื่อนไปทบทวน ไอ้ที่ “จวน” ก็เลย “จอด”

ในเวลาที่ทุกประเทศต่างก็ต้องการให้เงิน “หล่น” ลงมาจากฟ้า เอามาแก้ไขปัญหาเงินขาดมือ ก็จะเกิดประเด็นใหม่ๆ ปูดขึ้นมา เช่น “ประเทศ.....ใช้เงินกองกลางเกือบหมด ใกล้ถังแตก” ทุกคนรับรู้เป็นเสียงเดียวกันว่า ท่าทางงบประมาณจะไม่พอใช้ เลยท่องคาถาใหม่ “กู้” เพื่อ “แก้” เริ่มตั้งแต่นายกรัฐมนตรี สั่ง รมต. คลัง เดินหน้าทำเรื่อง “กู้นอก” จากธนาคารโลก , ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจกา) 70,000 ล้านบาท

หรือในขณะที่ “โอบามา” เริ่มเสนอร่างของบประมาณ ถึง 122 ล้านล้านบาท (แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐต้องเป็นหนี้หัวโตไปอีกนาน) ซึ่ง 1 ในวัตถุประสงค์ คือ จะเอาเงินส่วนหนึ่งไปอุ้มเพื่อต่อชีวิตบรรดาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (ฟังดูเหมือนจะดูดี) แต่ธนาคารเล็ก – ใหญ่ ที่กำลัง “ยิ้มรอ” ก็มีอันต้อง “ตื่นจากภวังค์” เพราะทั้งกระทรวงการคลัง และเฟด (FED) ธนาคารกลางสหรัฐ ได้ตั้งเงื่อนไข “Stress Test” (จะขอกู้น่ะดีพอป่ะ)

19 แบงค์ที่แสดงตนว่าอยากได้เงินแน่วแน่ ที่เข้าโครงการ จะมีเวลา 6 เดือนในการระดมทุนจากเอกชนประหนึ่งว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” ต้องพิสูจน์ถึง “ความพยายาม” (วิริยะ / สัมมาวายามะ) ของตัวเองซะก่อน ไม่ใช่เอะอะก็จะ “รอคนมาช่วย” (Moral Hazard) งานนี้คงเห็นกันล่ะว่า แบงค์จะเอาเงินก้อนใหญ่ไปแลกกับ “เสรีภาพทางการเงิน” มั้ย

เพราะแม้จะชัดเจนว่า “การยึดเอาแบงค์มาเป็นกิจการของรัฐ” (Nationalization) ไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของทั้งโอบามา , เบอร์นานเก้ (ประธานเฟด) และทิม ไกธ์เนอร์ (รมว.คลัง) (แต่ก็ไม่แน่ ถ้าเลือกไม่ได้) และถ้าเกิดขึ้นจริง ความอิสระในการบริหารทั้งของนายแบงค์, ผู้บริหาร, ผู้ถือหุ้น จะหมดไป นอกจากจะทำได้ยาก เพราะรัฐต้องใช้เงินจำนวนมาก มาให้กู้หรือมาอุ้มแล้ว ความคล่องตัวและความสามารถในการบริหารของรัฐ ก็ยังคงเป็นปัญหาคาใจ ถือว่า “นายแบงค์” ต้อง “เช็คสุขภาพใจ” เพราะ “การกลืนเลือด” ครั้งใหญ่ จำเป็นต้อง “เด็ดขาด” เมื่อเงิน “ขาดมือ”....


-ทิชา สุทธิธรรม-
***************************************************************

“เพราะวิมังสาในมูดี้ส์จึง moody”

สยามรัฐ 2 มี.ค. 2552
สัปดาห์ที่แล้ว เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงเศรษฐกิจไม่น้อย เมื่อบทวิเคราะห์ของ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส นั้นทำให้คนไทยที่ติดตามข่าวอยู่ตลอดเกิด “อารมณ์เสีย (Moody)” ขึ้นมาบ้าง เนื่องจากบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก นักเศรษฐศาสตร์ก็ดี นักวิชาการหรือสื่อมวลชนก็ดี ต่างออกมาค้านกันยกใหญ่ เพราะจะดูอย่างไรมันก็ค้านกับความเป็นจริงที่พอ “ใคร่ครวญหาเหตุผล” (วิมังสา) จากตัวเลขส่งออกที่แม้ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ไทยจะติดลบไป 26.5% (ไทยพึ่งพาการส่งออกเพียง 70% ของจีดีพี) ในขณะที่ไต้หวัน ส่งออกติดลบถึง 32% (ไต้หวันพึ่งพาการส่งออก 100%) , สิงคโปร์หรือญี่ปุ่น ซึ่งก็ส่งออกติดลบมากกว่าเรา มูดี้ส์เอาอะไรมาคิด??

ต้องยกย่องในความรู้สึก “ยอมไม่ได้” กับข้อมูลแบบนี้ของคนไทย เพราะพอถล่ม มูดี้ส์ ไปได้วันเดียว วันต่อมาก็ต้องมีอันต้องชี้แจงว่า “สื่อที่ลงเป็นข่าวไปน่ะ เป็นข้อมูลแค่บางส่วนเท่านั้นแต่ไม่ทั้งหมด มาจากการต่อเติมของสื่อบ้าง” อ้าว!! พอเรื่องเป็นแบบนี้ก็ต้องพิจารณากันหน่อยว่า “ความผิดใคร” ?

สิ่งที่พอเป็นไปได้ที่มูดี้ส์มองแต่อาจจะเป็น “มุมมองแง่ร้าย” นิดๆ คือ การคาดการณ์ว่า GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ของบ้านเราจะติดลบถึง 2.4% และอาจจะเป็นชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดลบ ในขณะเดียวกันที่มาเลเซียจะโตได้ 1.5% , อินโดนีเซียโต 3.9% , หรืออินเดีย 5.65% , ฟิลิปปินส์ 3.31% และจีน 7.02%

ถ้าพูดถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มาเลเซียมีทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่สดใสมากกว่าเรา เป็นเพราะได้มีการวาง Position ของประเทศอย่างชัดเจน มาเลเซียมีระบบ Logistics ที่ทันสมัยและไปไกล เพราะคิดก่อน และ เริ่มเร็ว ต้องการวางท่าเรือให้เป็น “Hub” เหมือนในสิงคโปร์และยิ่งชัดเจนในจำนวนประชาชนอิสลามหลายเชื้อชาติที่อยู่รวมกัน ดังนั้นจึงปั้นให้เป็น Hub เพื่อการขนส่งอาหาร “ฮาลาล” ได้ไม่ยาก

วิเคราะห์ต่ออีกหน่อยว่า มาเลเซียใช่ว่าจะอุดมสมบูรณ์มากไปกว่าเรา นำเข้าสินค้าก็มากมายหลายสิ่ง อาหาร เนื้อหมู ผัก ผลไม้ แต่เหตุใดยัง “ดูดี” ในแง่ “เครดิต” เพราะถ้าไม่นับช่วงเวลานี้ที่ราคา “ยางพารา” ร่วง หรือ “ปาล์มน้ำมัน” ล้นตลาด (เพราะน้ำมันราคาตก) มาเลเซียก็ คือ ผู้ส่งออกหลักของโลกนั้นเอง

ดังนั้นมาลอง “วิมังสา” กันดีสักรอบดีมั้ยพี่น้องว่า “พี่ไทย” จะเป็น “เกษตร –อุตสาฯ” “เกษตร – แปรรูป” หรือ มุ่ง “ส่งออก” บอกชัดๆ ได้ไหม ไปทางไหน ถึงจะ “รุ่งโรจน์” และไม่ต้องโทษ “มูดี้ส์”...

-ทิชา สุทธิธรรม-
****************************************************