วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

งาน (น่ะ) ถูกคน คนถูกงานมั๊ย

“สยามรัฐ” ฉบับที่ 11 ก.ย. 2552


เรื่องของข้าราชการกลุ่มเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองว่าไกลตัวจากปัญหาปากท้อง แต่อาจจะเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลมากอย่างคาดไม่ถึง นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของข้าราชการกระทรวงการคลังครั้งใหญ่ ลองวิเคราะห์ดูกันค่ะว่า คนที่จัด วางถูกคน – ถูกงาน หรือไม่ (เหตุและผล : ถูกคน – ถูกงาน – บริหารคล่อง)


พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ขยับจาก ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มาเป็น อธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งไม่ให้ติดขัด (เอาคนชงกู้เงิน มาอนุมัติจ่ายเงิน) ซึ่งแยบยลยิ่งนัก ท่าน รมต.คลัง (ปัญญา = ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล)


อารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม จาก ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มาเป็น อธิบดีกรมสรรพสามิต ซึ่งมีฝีมือและมีศิลปะเจรจา ต้องมาดูแลการเก็บภาษีที่เกี่ยวกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ สุรา รถ แอร์ โทรคมนาคม ซึ่งท้าทายเอาการอยู่


สมชัย สัจจพงษ์ จาก ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเดิม มาเป็น อธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งจะดูแลด้านการภาษีนำเข้า – ส่งออก การประมูลให้เรียบร้อย แต่ประเด็นคือ เป็นตัวของตัวเองสูง และ อาจจะคนละแนวทางกับ รมช. คลังบางท่าน


สาธิต รังคสิริ จาก รองปลัดกระทรวงการคลัง ด้านจัดการรายได้ มาเป็น ผอ. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่จะต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด สนิทแนบกับกระทรวงการคลังอย่างมากๆ

ข้อมูลพอสังเขปเหล่านี้ ยกความดีให้อย่างเป็นกลางว่า เท่าที่ดู “มีการเมืองแทรกน้อย” หรือ “อาจจะพอมี” แต่ “สกัดทัน” รมต. กรณ์ ต้องยอมรับ อย่างว่า ผิดใจกันบ้างกับคนในใจที่พรรคร่วมรัฐบาลช่วยกัน “ดัน” แต่ดัน “หลุด” แต่งานของ คุณกรณ์ อาจจะง่ายขึ้น เข้าตำรา “ชงเอง – เลี้ยงเอง – ส่งเอง” ถ้าไม่ตุงตาข่าย ก็แปลว่า ศักยภาพคนลงแข่ง “ไม่แกร่ง” หรือไม่ก็คนกันเอง เลื่อย (ขา) กันแรง ประชาชนจะ “ชม” หรือ “แช่ง” ให้งานแจกแจงสัก 3 เดือน ก็รู้



(ทิชา สุทธิธรรม)

**************************************

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

“ตื่นทอง” ต้องชั่งใจ

“สยามรัฐ” ฉบับที่ 7 ก.ย. 2552


ราคาทองคำในช่วงนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นพิเศษ ในตลาดโลกที่นิวยอร์คพุ่งขึ้นมาคืนเดียวถึง 22 เหรียญสหรัฐ ส่วนบ้านเรายังขยับขึ้นชนิดที่ว่า บ่ายขึ้นมาบาทละ 300 เย็นขึ้นต่ออีกบาทละ 50 บาท


เหตุผลนอกเหนือจากราคาทองปรับตัวขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลกแล้ว นักลงทุนต่างประเทศก็หันกลับมาลงทุนในทองคำกันมากขึ้น และก็เช่นกัน ลงทุนกันเสถียรขึ้นในตลาดหุ้น แต่หนีออกจากตลาดน้ำมัน

เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนอย่างมีเหตุผลนั้น ก็ฟังได้

นักลงทุนไม่น้อยที่เห็นว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะดูดีขึ้น อาทิ ตัวเลขการซื้อบ้านใหม่ และ ประสิทธิภาพของผลผลิตนอกการเกษตรที่ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ แต่ยอดว่างงาน ยังถีบตัวสูง จากข้อมูล เดือนสิงหาคม ล่าสุดที่ภาคเอกชนสหรัฐยังปลดคนออกอีกเกือบ 300,000 ตำแหน่ง, ดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนลงเรื่อยๆ

สิ่งสะท้อนเหล่านี้คือเหตุผลที่คนยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นจริง (วิจิกิจฉา : ลังเลสงสัย) ผลก็เลยเป็นอย่างที่เห็น “คนแห่เก็งกำไรซื้อทองคำเก็บเพราะเห็นว่าเป็นการลงทุนใน Safe heaven สินทรัพย์เสี่ยงที่ปลอดภัยที่สุด” แถมนายกสมาคมผู้ค้าทองคำแอบเปรยว่ามีโอกาสมากในอีก 3 สัปดาห์ ที่ทองคำจะขึ้นอีกอาจถึง 1,000 เหรียญสหรัฐ ต่อออนซ์

หวังว่าผู้ลงทุนคงพอบันยะบันยัง ลงทุนในตลาดทองคำล่วงหน้ากัน พอเป็นกระสัยมาบ้าง ....ซึ่งอาจจะช่วยให้คน “ตื่นทอง” น้อยลงและ “เยาวราชไม่แตก” (หวังไว้นะคะ)


(ทิชา สุทธิธรรม)
**************************************

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

: คิดจะเริ่ม ต้องเริ่มเลย

“สยามรัฐ” ฉบับที่ 3 ก.ย. 2552

“หากจะคิดเริ่มต้นต้องทนเหนื่อย
ผลัดวันเรื่อย หลายวันผ่าน งานก็เหลว
มีแต่คิด ถ้าไม่ทำ ย้ำโดยเร็ว
เหมือนจุดเปลว ไฟไว้ ไม่ใช้งาน”
(พระครูปลัดสิทธิวัฒน์: หลวงพี่น้ำฝน)


“When we start to begin…prepare for “tired – with” it. Coz if we don’t begin …and postpone day by Day… it will burn out ...and fail… It is like the Fire which has flame but never know which way to light for”.


( ทิชา สุทธิธรรม )
Twitter@Ticha4tv
***************************************

: ญี่ปุ่น - หมุนเปลี่ยน


“สยามรัฐ” ฉบับที่ 2 ก.ย. 2552


เพิ่งมีข่าวดีเกิดขึ้นกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่าง “ญี่ปุ่น” กับการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ที่พรรคฝ่ายค้าน (DPJ) หรือ Democretic Party of Japan ที่คว้าชัยเหนือพรรคอนุรักษ์นิยมอย่าง LDP (Liberal Democretic Party) ที่บริหารประเทศมานานถึง 57 ปี ต้องบอกว่า อดีตนายกฯ อย่าง
ทาโร่ อาโสะ อาจจะเศร้า แต่เป็นสิ่งที่เดาได้ว่า “ไม่มีพลิก”

คนญี่ปุ่นนั้นเบื่อหน่ายมากๆ กับ นโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ของอาโสะ ซึ่งจะว่าไปก็เคยทุ่มเทเม็ดเงินลงไปตั้งมหาศาล แต่จะว่าไปแล้ว อาโสะ อาจจะ “ซวย” เพราะเศรษฐกิจมันดันติดหล่มทั้งโลก ไม่ว่าใครหน้าไหนก็แก้ลำบาก

พอมาบวกกับนโยบายของฝ่ายค้าน ที่บอกได้เลยว่า ก็ไม่ได้มีอะไรผิดแผกแตกต่าง นอกเหนือซะจะเป็น “ประชานิยมจ๋า” เอาใจชนชั้นรากหญ้าสุดฤทธิ์ ซึ่งพรรค DPJ ใช้หาเสียง เช่น บ้านไหนมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เรียนฟรี 1 แสนบาท ยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางบางจุด รักษาสิ่งแวดล้อม

ไม่มีอะไรใหม่เกินคาดเดา เอาง่ายๆ คนญี่ปุ่นเหนื่อยหน่าย เลยขอแค่ “Change” บ้าง เผื่ออะไรๆ จะดีขึ้น (ถ้าไม่เปลี่ยนย่อมไม่พัฒนา แต่เปลี่ยนแล้วต้องยอมรับผลของมัน)

สิ่งที่ต้องดูต่อ คือ นโยบายเดิมของ LDP ที่ฝังรากกับกลุ่มทุน และบริษัท มีเงินเชิดหน้าชูตาญี่ปุ่นทั้งหลาย กับการกระจายบทบาทใหม่ สู่คนกลุ่มใหม่ ความเชื่อมโยง นี้จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นหรือแย่ลง

ผู้คนจะจดจำแบบไหน ฝ่ายค้านและนายกรัฐมนตรีใหม่จะทำงานได้ดีคู่ควรมั้ยกับคะแนนเสียง 300 กว่าๆ แบบถล่มทลาย ท้าทายต่อโฉมหน้าของทั้งญี่ปุ่นและคู่ค้าของญี่ปุ่นยิ่งนัก ....คิดเข้าข้างตัวเองสักหน่อย “ไทย” จะพลอยฟ้าพลอยฝน ได้ดีกับ “Change” ครั้งนี้ของญี่ปุ่นแค่ไหน.... ไม่นานคงรู้กัน !!

ทิชา สุทธิธรรม
************************