วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ชีวิตพี่เพียงพอและพอเพียง

สยามรัฐ 18 กพ. 2552
กว่าที่คอลัมน์อีโคโนมิกธรรมฉบับนี้จะตีพิมพ์ ดิฉันคาดว่าเราคงจะได้ข้อสรุปเรื่องของเงิน 2,000 บาท ที่จะตกลงถึงมือผู้มีสิทธ์ประกันตนกันเรียบร้อยเสียทีว่าจะเป็นการให้ในรูบแบบของการโอนผ่านธนาคารหรือว่าเป็นเช็คเงินสด โดยส่วนตัวก็เห็นว่าเอาน่ะไหนๆ เขาก็จะให้แล้วอะไรก็ได้ที่ให้ประชาชนได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นอันใช้ได้ แต่บอกตามตรงจากความเห็นส่วนตัวเลยค่ะไม่เคยคิดว่าการให้เงินแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระยะยาว แต่ถ้ารัฐบาลมองว่าคุ้มที่จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในระยะสั้นๆ ให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจิตวิทยานี้ก็คงพอมองเห็นผลลัพธ์บ้าง
กระแส “โลกาภิวัฒน์” กฎการเคลื่อนย้ายของการลงทุนที่สร้างโอกาสให้กับนานาประเทศนับไม่ถ้วน เกิดการเปิดตลาด การเปลี่ยนมือของกลุ่มทุน การเกื้อหนุนซึ่งกันและกันของอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ ส่งออก – นำเข้า – รับจ้างผลิต ความเจริญที่มาพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เราเคยเรียกร้องอยากจะได้ (โลภะ) พอได้แล้วติดใจอยากให้อยู่กับเรานานๆ (โมหะ) กลายเป็นสิ่งที่หลายประเทศกำลังคิดทบทวนว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะพึ่งพาระบบทุนนิยมเสรี” ที่ว่านี้ให้น้อยลง เพราะวิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากปี 2540 สมัยต้มยำกุ้งที่ประเทศไทยฟองสบู่แตก ทั้งหนี้เน่า – หนี้สินท่วมตัวและได้แพร่ความเสียหายไปสู่เพื่อนบ้านของเราย่านเอเชียไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ไม่อาจแพร่ไปถึงสหรัฐ สหภาพยุโรป (พูดง่ายๆ เราหายนะ แต่เขาชนะ) ซึ่งทำให้เรายังพึ่งพาการส่งออกจากเขาได้อยู่ แต่ในครั้งนี้ความจวนเจียนจะล่มสลายของระบบการเงินโลกที่เริ่มก่อหวอดมาจากสหรัฐอเมริกาตัวแม่ ตลาดส่งออกที่เคยเป็นของจริง ของแท้ แต่ดั้งเดิมของเราเลยแย่เหมือนหันหมด เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่สามารถพึ่งพาระบบทุนของโลกได้อีกต่อไป Campaign ที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้กันในตอนนี้เลยกลายเป็น “เลิกพึ่งพาส่งออก ให้พึ่งตนเอง” (อัตตาหิ อัตโนนาโถ) หรือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เช่น จีนรณรงค์ให้ประชาชนรักการออกเงินมากขึ้น และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างมากไม่เว้นแม้แต่ในชนบท ตั้งแต่ส่งเงินไปอุดหนุนให้ชาวบ้านเอาไปซื้อเครื่องให้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการจีน เพื่ออุตสาหกรรมแขนงนี้จะได้ขยายตัว และเปลี่ยนตัว CEO ของเลอโนโว จากชาวอเมริกันกับมาเป็น หยาง เหยินซิง ชาวจีน เพราะเห็นว่าการเร่งกำลังบริโภคในประเทศ ณ ยามนี้ สำคัญกว่าการเอาใจตลาดต่างประเทศหรือที่อินเดียก็จะมีการเก็บภาษีผู้ประกอกการที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศสูงขึ้น เพราะถือว่าประเทศเสียผลประโยชน์ ไม่แตกต่างกับประเทศไทยที่เดาได้ว่าทั้งปีนี้ตัวเลขการส่งออกก็จะยังติดลบ คนไทยก็เริ่มรู้จักกับ “ความพอเพียง” (Sufficiency Economy) กันมากขึ้น เพราะตะเกียกตะกายไปในวันที่สายป่านยาวไม่ถึงหวังพึ่งตลาดใหม่ก็เลือนลางลองหันมามองการเกษตรดูบบ้างถึงจะเป็นของโบราณ แต่ก็เป็นอู่ข่าว อู่น้ำ ชั้นดีที่เพียงพอและพอเพียง
-ทิชา สุทธิธรรม-
**********************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น