วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

จะให้กู้ ต้องคู่ควร

สยามรัฐ 4 มี.ค. 2552
การประชุมอาเซียนซัมมิทจบไปแล้วแบบลุ้นระทึก และในที่สุดก็ผ่านพ้นไป ถือว่ารัฐบาลทำได้ “ดี” ในการกู้ภาพลักษณ์ ทั้งหน่วยงานและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวหัวหิน – ชะอำ ที่พยายามจัดระเบียนเมืองไม่ให้ไทย “เสียหน้า” ขอชื่นชมจากใจ

น่าเสียดายอยู่บ้างก็เรื่อง FTA ไทย – อินเดีย “พี่แขก” เค้าไม่เคลียร์ ก็สินค้าของเรากับเค้ามันก็คล้ายกันอยู่หลายรายการ ของเค้าสินค้า IT เจ๋งถือเป็นตัวแข่ง เราก็แรงใช่ย่อย ส่ง “อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์” เข้าประกวดได้ “ไม่แพ้” เลยเจอ “โรคเลื่อน” ยิ่งอินเดียลงนามเร็ว ก็ดูท่าจะเสียเปรียบเราเร็ว เค้าเลยขอเลื่อนไปทบทวน ไอ้ที่ “จวน” ก็เลย “จอด”

ในเวลาที่ทุกประเทศต่างก็ต้องการให้เงิน “หล่น” ลงมาจากฟ้า เอามาแก้ไขปัญหาเงินขาดมือ ก็จะเกิดประเด็นใหม่ๆ ปูดขึ้นมา เช่น “ประเทศ.....ใช้เงินกองกลางเกือบหมด ใกล้ถังแตก” ทุกคนรับรู้เป็นเสียงเดียวกันว่า ท่าทางงบประมาณจะไม่พอใช้ เลยท่องคาถาใหม่ “กู้” เพื่อ “แก้” เริ่มตั้งแต่นายกรัฐมนตรี สั่ง รมต. คลัง เดินหน้าทำเรื่อง “กู้นอก” จากธนาคารโลก , ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจกา) 70,000 ล้านบาท

หรือในขณะที่ “โอบามา” เริ่มเสนอร่างของบประมาณ ถึง 122 ล้านล้านบาท (แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐต้องเป็นหนี้หัวโตไปอีกนาน) ซึ่ง 1 ในวัตถุประสงค์ คือ จะเอาเงินส่วนหนึ่งไปอุ้มเพื่อต่อชีวิตบรรดาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (ฟังดูเหมือนจะดูดี) แต่ธนาคารเล็ก – ใหญ่ ที่กำลัง “ยิ้มรอ” ก็มีอันต้อง “ตื่นจากภวังค์” เพราะทั้งกระทรวงการคลัง และเฟด (FED) ธนาคารกลางสหรัฐ ได้ตั้งเงื่อนไข “Stress Test” (จะขอกู้น่ะดีพอป่ะ)

19 แบงค์ที่แสดงตนว่าอยากได้เงินแน่วแน่ ที่เข้าโครงการ จะมีเวลา 6 เดือนในการระดมทุนจากเอกชนประหนึ่งว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” ต้องพิสูจน์ถึง “ความพยายาม” (วิริยะ / สัมมาวายามะ) ของตัวเองซะก่อน ไม่ใช่เอะอะก็จะ “รอคนมาช่วย” (Moral Hazard) งานนี้คงเห็นกันล่ะว่า แบงค์จะเอาเงินก้อนใหญ่ไปแลกกับ “เสรีภาพทางการเงิน” มั้ย

เพราะแม้จะชัดเจนว่า “การยึดเอาแบงค์มาเป็นกิจการของรัฐ” (Nationalization) ไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของทั้งโอบามา , เบอร์นานเก้ (ประธานเฟด) และทิม ไกธ์เนอร์ (รมว.คลัง) (แต่ก็ไม่แน่ ถ้าเลือกไม่ได้) และถ้าเกิดขึ้นจริง ความอิสระในการบริหารทั้งของนายแบงค์, ผู้บริหาร, ผู้ถือหุ้น จะหมดไป นอกจากจะทำได้ยาก เพราะรัฐต้องใช้เงินจำนวนมาก มาให้กู้หรือมาอุ้มแล้ว ความคล่องตัวและความสามารถในการบริหารของรัฐ ก็ยังคงเป็นปัญหาคาใจ ถือว่า “นายแบงค์” ต้อง “เช็คสุขภาพใจ” เพราะ “การกลืนเลือด” ครั้งใหญ่ จำเป็นต้อง “เด็ดขาด” เมื่อเงิน “ขาดมือ”....


-ทิชา สุทธิธรรม-
***************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น