วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

ก็แค่น้อยใจ

สยามรัฐ 6 มี.ค. 2552

ในช่วงเศรษฐกิจตึงตัวแบบนี้ เราๆ ท่านๆ คงจะเริ่มหันมามองตัวเองและตั้งใจเก็บออมกันมากขึ้นโดยไม่มีการนัดหมาย เพราะถ้าไม่เก็บ อาจเป็นไปได้ที่จะไม่มีกิน “การออม” นั้นเป็นสิ่งที่ดีแน่ โดยไม่ต้องสงสัย (วิจิกิจฉา : ความลังเลสงสัย) แต่ไฉนนักเศรษฐศาสตร์บางคนกลับมองว่า “การออม” ในเชิงทฤษฎีอาจเป็นการ “ทำลาย” ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อสัดส่วน “ความอยาก” ในการออกเพิ่มมากขึ้น แน่นอนสัดส่วน “ความอยาก” ใน “การใช้เงิน” ย่อมน้อยลง ยิ่งในภาวะที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายในภาคของการเงินต่าง “ผวา” กลัวว่าเศรษฐกิจจะตึงตัวหรือเกิด “ภาวะเงินฝืด” แบบกู้ไม่กลับ (ในขณะที่สินค้าก็แพงน้อยลง แต่คนก็ยังไม่ซื้อ) เห็นชัดๆจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ประกาศออกมา -0.1 % ซึ่งเป็นการ “ติดลบ” ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนมกราคม ที่ก็ติดลบ 0.4%

ด้วยเหตุผลที่น้ำมันได้ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจปรับตัวลงทุกอย่าง ประชาชนรับรู้โดยอัตโนมัต จากผลกระทบที่เกิดขึ้นและพร้อมใจลดการบริโภคลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับยอดการบริโภครถยนต์ก็น้อยลงอย่างน่าใจหาย

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยอดคำสั่งซื้อรถยนต์ ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ลดลงแทบไม่ขยับ เพราะต่าง “รอ” ฟังคำตอบจากรัฐบาล หลังจาก “ส่งกลิ่น” ลือกันมาว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐมนตรีอุตสาหกรรม แสดงความตั้งใจอยากให้มีการลดภาษีสรรพสามิต รถยนต์ลง ซึ่งก็หมายความว่าผู้ซื้อรถมีโอกาสจะซื้อรถได้ถูกลง 30,000 – 50,000 บาทต่อคัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงระบายรถยนต์ในสต็อกเก่าออกมาได้มากอยู่ พร้อมๆ กับคนซื้อรถที่คงจะ “ยิ้ม” เพราะถูกใจได้ซื้อของถูกลง

แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะดูเหมือนว่า ทางกระทรวงการคลังจะแตะเบรก เพราะกลัวว่าจะเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ส่วนทางสภาอุตสาหกรรมเจ้าเก่าก็เริ่ม “บ่น” ว่าถ้ารัฐบาลช่วยอุ้มแต่ “กลุ่มยานยนต์” ก็อาจมีคน “ประท้วง” เพราะยังมีอีกหลายกลุ่ม เช่น อิเล็คทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี ก็ “สะบักสะบอม” ไม่แพ้กัน และถามหา “ความยุติธรรม” ว่าอยู่กันตรงไหน รัฐบาลถึงอ้อม “แฉลบ” ไปไกล คิดถึงแต่ “ของใหญ่ๆ” จน “ของเล็กๆ” น้อยใจ เพราะไม่มีใคร “เหลียวแล”...
-ทิชา สุทธิธรรม-
******************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น