สยามรัฐ 20 มี.ค. 2552
เริ่มส่งกลิ่นมาตั้งแต่ปลายปี 2551 แล้วว่า บริหารการลงทุน “ขาดทุน” ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีข้าราชการทั่วฟ้าเมืองไทยเป็นสมาชิกอยู่ และต่างฝากความหวังไว้กับวิจารณญาณ “ผู้บริหาร” และ “ผู้จัดการกองทุน” ในการลงทุนให้ออกดอกออกผล เพราะ “ข้าราชการ” เชื่อว่าปลอดภัยและ “เสี่ยงน้อย” กว่าลงทุนเองโดยตรง ซึ่งอาจกลายเป็น “แมงเม่า” ไปได้
จากวิสัยทัศน์การลงทุนของผู้บริหาร กบข. ที่ดิฉันได้ศึกษามาก็พบว่า กบข. ได้มีการลงทุนอย่างระมัดระวัง “ไม่เสี่ยง” กับของ “ยั่วใจ” ที่ “ไม้รู้จัก” เลยไม่ตกเป็นเหยื่อจาก “พิษซับไพรม์” ในสหรัฐและลามไปทั่วโลก ถึงกำไรจากการลงทุนจะไม่ได้ “ก้าวกระโดด” แต่ก็ไม่เคยขาดทุน แถม “มีกำไร” มาตลอดระยะเวลาที่ก่อตั้งมาหลายปี
แต่วันนี้ กบข. ขาดทุน “บักโกรก” จากการลงทุนถึง 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้ายืนตาม พรบ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 กบข. สามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงได้ 60 % (แต่ความเป็นจริงลงทุนไป 77.89% ) และที่เหลือ 40% สามารถลงุทนในทรัพย์สินอื่นๆ และถ้าอ้างอิงข้อมูลจากสื่อ ที่ “หุ้นบางบริษัทหรือการลงทุนบางอย่างที่ไม่ทำกำไร กบข. ยังเดินหน้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนต่อ และไม่ลดสัดส่วนการลงทุน” ความผิดปกติจึงปรากฏขึ้น
“อัตตัตถะ หรือ อรรถ3” หมายถึง ประโยชน์ – จุดมุ่งหมาย แบ่งได้ 3 กลุ่ม
1. อัตตัตถะ (ประโยชน์ตน)
2. ปรัตถะ (ประโยชน์ผู้อื่น)
3. อุภยัตถะ (ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย)
ผู้ที่สวมวิญญาณ “บริหารความเสี่ยง หรือผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)” นั้นควรจะ
คำนึงถึง ทั้ง 3 ประการ สมาชิกข้าราชการต้องได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ส่วน กบข. ก็มีผลงานและผลตอบแทนสม่ำเสมอ
เลยเป็นที่มาของการ “สอบ” กันยาว ถึง “วินัย” บวก “ความโปร่งใส” ในการลงทุน ซึ่งแว่วๆว่า “บอร์ดระดับสูงของกบข.ก็ล้วนแต่เป็นระดับบิ๊กๆ ในเครื่องแบบ” กันทั้งนั้น งานนี้ก็ต้องวัดกันระหว่าง “เจ้ากระทรวงยุติธรรม คุณธรรมแรง” กับ “การลงทุนที่อาจมีนัยแฝง เพราะติด ตัวแดง โร่”
ที่แย่ไปกว่านั้น ข้าราชการที่ “ไม่ใหญ่ไม่โต” อาจมีอันต้อง “ร้องโฮ” เพราะกลัว “ช่องโหว่” และอาจ “ไม่ได้ตังค์!!” “ทุกข์” ทั้งคน “คนทำให้” คน “ให้ทำ” เรื่อง “กำไร” ไว้ว่าทีหลัง “เงินต้น” อย่า “โดนฝัง” เป็นพอ!!
-ทิชา สุทธิธรรม-
***************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น